กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 36: แม่น้ำเจ้าพระยากับการรักษาสิ่งแวดล้อม
พุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ผมไปเดินหาเสียงในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบายน้ำเสียจากคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำ จะไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นอีกด้วย ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คุณภาพน้ำก็ยังลดลง
            ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 จึงมุ่งหวังที่จะช่วยกระตุ้นสำนึกในการรักษาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปัญหาจากน้ำทิ้งของชุมชน น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม และน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงหมู เป็นต้น ทั้งนี้ถือเป็นการทวงคืนทวงคืนและรักษาแม่น้ำให้แก่ประชาชน เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยากลายสภาพคล้ายที่ระบายน้ำเสีย หรือถูกใช้เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์เท่านั้น
            สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาควรดำเนินการดังนี้
            1. กรณีน้ำทิ้งจากชุมชน การขยายจำนวนระบบบำบัดน้ำเสียรวม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเข้มงวดให้บ้านเรือนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้มีการจัดการน้ำเสียโดยเฉพาะบ้านเรือนและอาคารที่อยู่ริมน้ำด้วยการติดตั้งถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านเรือนและอาคาร และให้มีการกำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสียรวมไว้กับค่าน้ำประปาตามปริมาณที่ใช้ไป
            2. กรณีน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม ปราบปรามให้เด็ดขาดและต่อเนื่องในกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด รวมทั้งการจับเก็บภาษีมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ
            3. กรณีน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เข้มงวดต่อการปล่อยน้ำทิ้งและให้มีระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น
            ผมยังขอเสนอให้สร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างละ 2 ช่องทางจราจร รวม 4 ช่องทางจราจร พร้อมลู่วิ่งและช่องทางจักรยานกว้างประมาณ 24 เมตร โดยให้มีสภาพเป็นเขื่อนกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักท่วมกรุงเทพมหานคร และยังเป็นเขื่อนปิดที่ป้องกันการแอบระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ทั้งนี้ในบางช่วงที่มีพื้นที่จำกัด ยังอาจสร้างเป็นทางยกระดับ 2 ชั้น ไป-กลับเพื่อประหยัดพื้นที่
            ในการก่อสร้างอาจทำให้กระทบกับประชาชนริมแม่น้ำให้น้อยที่สุด เช่น การก่อสร้างถนนและเขื่อนดังกล่าวล้ำลงในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากทำประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วย ก็อาจต้องเวนคืนบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในนครต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างริมแม่น้ำสายหลัก 
            ทั้งนี้การเวนคืนต้องดำเนินการเวนคืนแนวใหม่ คือ การจ่ายค่าทดแทนสูงและเร็ว ไม่ใช่ ต่ำ-ช้า หรือการจ่ายต่ำ ๆ กว่าราคาตลาดและจ่ายช้า ๆ เช่นที่เคยเป็นในอดีต สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับเงินและย้ายออก กทม. อาจจัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง โดยก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่มีความสูงไม่มากนัก เพื่อผู้อยู่อาศัยไม่ต้องปรับตัวมากนัก และเมื่อก่อสร้างเสร็จจึงค่อยรื้อถอนอาคารออกไป ยิ่งกว่านั้นยังอาจจัดซื้อห้องชุดของภาคเอกชนในการทดแทนที่อยู่อาศัยเดิม เป็นต้น
            และเพื่อเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กทม. พึงจัดกิจกรรม Urban Swim (http://urbanswim.org) หรือ Open Water Swimming (http://en.wikipedia.org/wiki/Open_water_swimming) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงน้ำธรรมชาติอย่างปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง  เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่เคารพในแม่น้ำลำคลองด้วยการลงไปสัมผัสถึงปัญหาและร่วมใจกันแก้ไข 
            Urban Swim นี้ ยังถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของคนในกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองหลัก ๆ ของกรุงเทพมหานคร มีไว้เพื่อการระบายน้ำ และการขนส่งสินค้าทางน้ำในเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ  ประชาชนที่อยู่ริมน้ำ และลงว่ายน้ำกลับถูกมองว่าเป็นประชาชนที่ “ไม่มีระดับ” ไม่สามารถซื้อหาบริหารว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสมัยใหม่ได้
            ในนครนิวยอร์ก หรือมหานครอื่น ๆ มีการจัดกิจกรรม Urban Swim หรือ Open Water Swimming กันอย่างกว้างขวาง แต่มหานครเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือประเทศไทยโดยรวมที่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี กิจกรรมว่ายน้ำหมู่เช่นนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
            กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ควรรณรงค์ให้เกิดขึ้นก็คือ การรณรงค์อาสาสมัครรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำฮัดสัน นครนิวยอร์ก โดยมีจุดตรวจที่ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ 18 จุด ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจสามารถตรวจและรายงานได้นับร้อยจุดตลอดวัน และหากจุดใดมีการปล่อยน้ำเสีย ก็สามารถแจ้งกับทางราชการและสื่อมวลชนมาตรวจจับได้ทันที
            นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น กิจกรรมพายเรือในวันหยุดในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไปตามลำคลองต่าง ๆ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะได้ดมกลิ่นน้ำเน่าบ้าง เราจะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มาร่วมงานแบบประเดี๋ยวประด๋าว เพราะประชาชนสองฝั่งคลองดมอยู่ตลอดวัน ตลอดปี ตลอดชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ยังอาจมาร่วมบริจาคเงินเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่ขาดน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา หรือในพื้นที่กันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือไปช่วยเหลือหมู่บ้านกันดารในประเทศอินโดจีนหรือเมียนมาร์ เพื่อการสร้างสมานฉันท์อันดีระหว่างประเทศ
            มาร่วมกันทวงคืนแม่น้ำเจ้าพระยา และแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อแม่น้ำของเรา



ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=iK6Ux6TOg_c

ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ ดร.โสภณ พรโชคชัย

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai