กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์: การแก้ไขปัญหาจราจรใจกลางเมือง
จันทร์ 28 มกราคม 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ดร.โสภณ เสนอทำรถไฟฟ้ามวลเบาในพื้นที่ปิดล้อม เช่น สาทร ยานนาวา เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญยังควรสร้างรถไฟฟ้ามวลเบาหรือรถไฟฟ้า BTS แทนรถ BRT ที่เปิดใช้อยู่  รวมทั้งเน้นการสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานโดยการทำจักรยานให้เช่า
            ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 4 ได้ไปหาเสียงบริเวณสะพานลอยเชื่อมสถานีช่องนนทรีของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา สาย 2 (BTS) กับสถานีสาทร ของรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ซึ่งได้แจกเอกสารแนะนำผู้สมัคร รวมทั้งการปราศรัยย่อย
            ประเด็นสำคัญในการนำเสนอในวันนี้ก็คือ การส่งเสริมการสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา บริเวณถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ถนนจันทน์ ถนนเซ็นต์หลุยส์ ถนนนราธิวาส ถนนนางลิ้นจี่ ถนนงามดูพลี ออกถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเป็นการเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าหลักสาทร สุรศักดิ์ และสถานีลุมพินีของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT)
            เมื่อสามารถก่อสร้างได้สำเร็จ จะเป็นการทะลวงพื้นที่ปิดล้อม และสร้างโอกาสในการพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองซึ่งถือเป็นการฟื้นนครหรือการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองขึ้นใหม่ (Redevelopment) ทำให้มีโอกาสการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนมากขึ้น โดยในปัจจุบันที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าจำกัด ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองกระจุกตัว  ทำให้ราคาแพงมาก โดยราคาห้องชุดที่แพงที่สุดจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส สูงถึง 340,000 บาทต่อตารางเมตร หรือเท่ากับต้องนำธนบัตรใบละ 1,000 บาทปูถึง 4 ชั้น
            การพัฒนารถไฟฟ้ามวลเบาเช่นนี้ ยังสามารถดำเนินการในพื้นที่อื่นได้อีก เช่น ประดิพัทธ์-ซอยอารี ประดิพัทธ์-วิภาวดีรังสิต, อินทามระ-ห้วยขวาง, พระรามที่ 1-บรรทัดทอง-พระรามที่1, คลองเตย-พระรามที่ 4-พระโขนง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เปิดทำเลใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง  นอกจากนั้นยังควรสร้างรถไฟฟ้าแบบ BTS บนเกาะกลางถนนของถนนอีกหลายสายในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น ถนนลาดพร้าว ถนนสามเสน และอื่นๆ เป็นต้น
            นอกจากนี้ ดร.โสภณ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการยกระดับรถ BRT ให้เป็นรถไฟฟ้ามวลเบา หรือกระทั่งรถไฟฟ้าทั่วไปเช่น BTS เพราะตลอดแนวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนพระรามที่ 3 มีคลองอยู่ตรงกลาง สามารถนำมาพัฒนาเป็นรางรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเวนคืน หรือเวนคืนแต่น้อยในบางบริเวณเท่านั้น
            ระบบรถ BRT เป็นเพียงการบริการชั่วคราวที่ไม่ยั่งยืน แม้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนบ้าง ก็เฉพาะในเวลาเร่งด่วน แต่บางครั้งก็ไม่อาจใช้งานได้ เพราะติดขัดการจราจรในช่วงทางแยก ทางเชื่อมเช่นกัน  ยิ่งกว่านั้นยังมีผลเสียที่ทำให้ช่องทางการจราจรหายไปรวม 2 ช่องทาง ในขณะที่คลองไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร  แนวคิดในการขยายเส้นทางไปในพื้นที่อื่น ย่อมจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มเติม  จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาในโครงการของกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย ธนาคารโลกและหน่วยงานอื่นในกรุงจาการ์ตา ซึ่งมีระบบรถ BRT มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 พบว่า ระบบนี้ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรได้จริง
            และด้วยสภาพการจราจรในเขตใจกลางเมืองถนนสีลม สาทร นราธิวาสราชนครินทร์ และพระรามที่ 4  ดร.โสภณเสนอว่า หากกรุงเทพมหานครจัดทำระบบจักรยานให้เช่าขี่ไปทำงาน และส่งเสริมให้ประชาชนในเขตใจกลางเมืองทั้งหลายขี่รถจักรยานให้เช่าเป็นกลุ่มแรก ก็จะทำให้เมืองสะอาดขึ้นทันที
            โดยในทางปฏิบัติจัดให้มีจุดเช่า/คืนจักรยาน 1,000 จุด  แต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน  หากคันหนึ่งมีราคา 4,000 บาท ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท  ค่าสถานที่และจัดการอีก 1 เท่าตัว  โครงการนี้ก็สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท  ค่าเช่าจักรยานในแต่ละวัน อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท  เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่า 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ  17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน


            ภาพที่ 1: กรณีศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งมวลเบาในพื้นที่ปิดล้อมใจกลางเมือง กรณีเช่นนี้สามารถดำเนินการในพื้นที่อื่นได้อีก เช่น ประดิพัทธ์-ซอยอารี ประดิพัทธ์-วิภาวดีรังสิต, อินทามระ-ห้วยขวาง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เปิดทำเลใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง
              
 ภาพที่ 2: ระบบรถไฟฟ้ามวลเบาของนครซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

            
ภาพที่ 3: ระบบรถไฟฟ้ามวลเบาของนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งแม้ถนนจะแคบ แต่ก็สามารถก่อสร้างได้ โดยเจ้าของอาคารและที่ดินโดยรอบให้ความร่วมมือและได้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการเป็นสถานีรถไฟฟ้า


ปล. ผมขออนุญาตเชิญท่านผู้สื่อข่าวทำข่าวการหาเสียงของผมในเวลา 08:00 น. ในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2556 ณ ถนนราชดำริ บริเวณสะพานข้ามคลองแสนแสบ ใกล้ท่าเรือคลองแสนแสบ โดย ดร.โสภณ จะไปหาเสียง และพาชมสะพานลอยรถข้ามแห่งแรกของประเทศไทย ความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนอุรุพงษ์-ราชดำริลอดใต้คลองแสนแสบ แนวทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาการเดินเรือบนคลองแสนแสบ และคลองอื่น ๆ เช่น คลองลาดพร้าว รวมทั้งแนวทางการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเพื่อไม่ให้กรุงเทพมหานครตกอยู่ในสภาพ "ทางเท้าไว้ขายของ ถนนไว้เดิน (เพราะเดินทางเท้าไม่สะดวก)"

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai