กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 23: ผังเมืองกับการดับเพลิงในอาคารสูง
จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

          ดร.โสภณ #4 เสนอให้ยกระดับความสามารถในการดับเพลิงอาคารสูง แทนการห้ามสร้างอาคารสูง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด"
          กรุงเทพมหานครมักอ้างว่าที่พยายามจำกัดความสูงของอาคารก็เพราะมีปัญหาไฟไหม้บ่อยครั้งในซอยใจกลางกรุง ข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริง ในกรณีอาคารสูง อาคารชุดและอะพาร์ตเมนต์ ในช่วง 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2554) นั้น เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 8% ของกรณีเพลิงไหม้ทั้งหมด เป็น 7% 4% 3% และ 2% ตามลำดับ {2} กรณีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) ในปัจจุบันก็มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ระบบอาคารเก่าในอดีต อาคารสมัยใหม่จึงแทบไม่เกิดเพลิงไหม้ ในอีกแง่หนึ่งการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่อ้างความไร้ประสิทธิภาพมาเพื่อกีดขวางการพัฒนาประเทศ


 ที่มา: http://www.dailynews.co.th/crime/15445

           ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานคร ยังอ้างว่าจะขยายและตัดถนนใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ในเขตรอบนอกของเมือง แต่ในความเป็นจริง ถนนตามร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครส่วนมากไม่ได้ก่อสร้างจริง แนวถนนยังมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่ชัด นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากสร้างอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขาดความเป็นไปได้ทางการตลาดและการเงินในการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ดังนั้นที่ว่าจะมีการก่อสร้างถนนอีกมากมายจึงไม่เป็นความจริง
          ที่ผ่านมาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองของกรุงเทพมหานครบางส่วนคงไปเลียนแบบประเทศตะวันตกที่กำหนดความสูงของอาคาร เช่น กรุงปารีส ที่แม้กำหนดความสูงเพียง 37 เมตร แต่ก็ไม่ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ว่างมากเกินความจำเป็นเช่นกรุงเทพมหานคร จึงทำให้เมืองมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 22,000 ต่อตารางกิโลเมตร
          ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครพยายามจำกัดการก่อสร้างทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น ไม่อนุญาตให้อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร) บนที่ดินที่อยู่ติดถนนกว้างน้อยกว่า 16 เมตร หรือจำกัดความสูงของอาคารสูงจาก 23 เมตรเหลือ 12 เมตร เป็นต้น แนวคิดในร่างผังเมืองใหม่นี้เท่ากับการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของที่ดิน ทำให้ที่ดินใจกลางเมืองที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วนไม่ได้รับการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ กีดขวางการพัฒนาในเขตเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวสูงให้มาก เพื่อไม่ให้เมืองขยายออกไปในแนวราบซึ่งจะกินหรือรุกทำลายสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวชานเมือง อีกทั้งยังทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศชาติ นอกจากนั้นการที่ประชาชนต้องถูกบังคับโดยผังเมืองให้ออกไปอยู่อาศัยนอกเขตกรุงเทพมหานครทำให้ต้องเดินทางต้องออกสู่นอกเมืองเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างใหญ่หลวง
          ดังนั้นหากผมได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และพัฒนาขีดความสามารถของการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครขนานใหญ่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานดับเพลิงอีกด้วย

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai