กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 22: ผู้ว่าฯ กทม. กับการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิม
อาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            ในวันนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้เดินทางไปหาเสียงบริเวณวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริเวณสถานีแรกของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ในขณะนี้ รถไฟฟ้าสายนี้ยังจะผ่านย่านวังบูรพาและสนามไชยในฝั่งพระนครอีกด้วย โดยบริเวณสถานีแรกนี้น่าจะมีปัญหากับประชาชนมากที่สุด
            ผมเคยทำการสำรวจการใช้ที่ดินเพื่อการฟื้นฟูเมืองใหม่เมื่อปี พ.ศ.2530 ในขณะทำงานที่การเคหะแห่งชาติในฐานะที่ปรึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ในขณะนั้นได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์เจ้าของที่ดินหลายราย รวมถึง ฯพณฯ พจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สำรวจดูอาคารที่ทันสมัยในสมัยเก่า แต่ต่อมากลายสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
            การพัฒนาและการอนุรักษ์พื้นที่ชุมชนดั้งเดิมในกรณีของชุมชนชาวจีนหรือ China Town นั้น เป็นภาระสำคัญของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำงานร่วมกัน ผมในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จึงขออนุญาตจัดทำแถลงการณ์นี้เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินการ
            เมื่อ 231 ปีก่อน ชุมชนชาวจีนเยาวราชได้ย้ายมาจากบริเวณที่เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน มาสู่ย่านพาหุรัด สะพานหัน ทรงวาด วานิช 1 ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศไทย ถนนเยาวราชและโดยเฉพาะถนนเจริญกรุงซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่าถนนใหม่ หรือ New Road ก็เพิ่งสร้างเสร็จภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2407 หรือ 149 ปีก่อน โดยมีไว้เพื่อการขี่ม้าสัญจรของชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ก่อนปี พ.ศ.2510 ย่านนี้ยังมีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยในยุคนั้น ซึ่งก็คือรถรางไฟฟ้านั่นเอง
            อย่างไรก็ตามเมื่อท่าเรือได้ย้ายจากท่าน้ำราชวงศ์ไปคลองเตย และศูนย์ธุรกิจได้ย้ายไปเขตบางรักโดยเฉพาะถนนสีลม สาทรและสุรวงศ์ ซึ่งมีโอกาสการเติบโตมากกว่า ย่านชุมชนชาวจีนก็ถดถอยลงตามลำดับ ในยามเฟื่องฟู ตึก 7 ชั้น และตึก 9 ชั้นเยาวราช เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย แต่ต่อมาก็มีสภาพทรุดโทรมลงตามลำดับ พ่อค้าคหบดีชาวจีนชั้นนำได้ย้ายถิ่นฐานออกไปสู่ภายนอก โดยพื้นที่ที่นิยมย้ายออกไปในช่วงหลังได้แก่ย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ส่วนคหบดีชาวอินเดียก็มักไปสร้างอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าและอยู่กันเองเป็นจำนวนมากในย่านสุขุมวิท
            อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่โดยเฉพาะร้านทอง แต่ปัจจุบันก็มีร้านทองกระจายไปทั่วกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ กิจการค้าผ้าก็ยังอยู่เช่นกัน โดยมีซอยวานิช 1 เป็นศูนย์รวม และหากผู้ทำธุรกิจนี้รายใด ไม่มีร้านค้าอยู่ย่านนี้ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่ไม่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจริง รวมทั้งกิจกรรมใหม่ ๆ เช่น กิจการค้าส่งสินค้าจากประเทศจีนโดยเฉพาะกิฟท์ช็อบต่าง ๆ เป็นต้น อาคารพาณิชย์ในซอยวานิช 1 มีราคาแพงถึงคูหาละ 40-50 ล้านบาททั้งที่ก่อสร้างเสร็จมานานแล้วและมีความสูงเพียง 2-3 ชั้นเท่านั้น พื้นที่ค้าปลีกบางแห่งมีราคาสูงถึง 650,000 บาทต่อตารางเมตร
            นับแต่ราวปี 2520 เยาวราชถูกแทนที่ด้วยประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชาวอีสาน) ไม่ว่าจะเป็นในร้านยา ในโรงงิ้ว ซึ่งผู้เล่นงิ้วส่วนมากเป็นชาวอีสาน แต่สามารถร้องงิ้วได้ไพเราะจับใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ในราวปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมาเริ่มมีชาวต่างประเทศมาอยู่ เช่น ชาวพม่า หรืออื่น ๆ ที่เป็นผู้ใช้แรงงานแทนชาวอีสานนั่นเอง อย่างไรก็ตามชาวจีนระดับกลางค่อนข้างสูงบางส่วนที่ทำการค้าอยู่ทั่วไป ก็ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้
            ผมเชื่อว่าหากมีรถไฟฟ้าผ่านเยาวราช แต่ไม่มีทางขึ้นลงที่เยาวราช คงส่งผลเสียต่อประชาชนชาวเยาวราชมหาศาล ผมยังเชื่อว่าทางราชการก็คงพยายามเวนคืนให้น้อยที่สุด ใช้พื้นที่อย่างประหยัดที่สุด อย่างไรก็ตาม กทม. กทม. ในฐานะผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ก็ควรมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ และ ก็ควรสังเกตการณ์และให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยไม่ควรรับฟังเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
            สำหรับกรณีที่หลายท่านห่วงใยในมิติวัฒนธรรมที่กลัวเลือนหายไปจากการเวนคืนสร้างรถไฟฟ้านั้น คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงมากนัก เพราะวัฒนธรรมจีนได้พิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่า “ฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด” จึงเกิด China Town ขึ้นทั่วโลก
            อย่างไรก็ตามการเวนคืนต้องเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งการช่วยฟื้นฟูเยียวยาทางด้านจิตใจอีกด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่พึงมีต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai