กลับหน้าแรก
 
แถลงการณ์ 10: การใช้สนามหลวงและสร้างสมานฉันท์ของคนในชาติ
เสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

            สนามหลวงในปัจจุบันให้ใช้ในรัฐพิธิเท่านั้นทั้งที่แต่เดิมให้ใช้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน ปัจจุบันนี้ตกอยู่ในสภาพ “เห็นแต่ตา มืออย่าต้อง” ควรคืนให้ประชาชน และใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมือง จะได้ไม่เกิดการชุมนุมในย่านอื่น นอกจากนี้แม้การเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ปัญหาทางการเมืองมักจะเกิดในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ กทม. ควรมีวิสัยทัศน์ช่วยสร้างความสมานฉันท์ด้วย
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ได้แถลงการณ์ ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับการใช้สนามหลวงและแนวทางการสร้างสมานฉันท์ของคนในชาติดังนี้:
            กรณีการใช้สนามหลวง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ระบุให้ใช้เฉพาะงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี  แต่ห้ามมีกิจกรรมทางการเมือง  และการใช้ต้องยื่นคำขออนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องวางหลักประกันเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 - 1,000,000 บาท  ส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการออกกำลังกายตามวันเวลาที่ประกาศเท่านั้น
            ดร.โสภณ ไม่เห็นด้วยกับประกาศของกรุงเทพมหานครข้างต้น เพราะเท่ากับเป็นการ “ริบ” พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ ไป สนามหลวงตกอยู่ในสภาพที่ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง”  แนวคิดในการสร้างสนามปลูกหญ้าขนาดใหญ่เพียงเพื่อไว้ให้ดูด้วยตาว่าเขียวขจีเป็นเสมือนพรม แต่ไม่ยอมให้ใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนเท่าที่ควร เป็นสิ่งที่พึงทบทวนใหม่เป็นอย่างยิ่ง
            คนกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนขี่จักรยานเป็นก็เพราะมีสนามหลวง ใครใคร่มาเล่นว่าว หรือนั่งเล่นตามพื้นที่ต่างๆ ก็ย่อมทำได้ แต่ทุกวันนี้มีข้อจำกัดมาก กทม. สามารถให้คงพื้นที่สนามหลวงเป็นของประชาชน เพียงแต่ต้องจัดระเบียบให้ดี เช่น การเช่าพื้นที่ค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม เช่าจักรยาน โดยทำให้เกิดความโปร่งใส นำเงินเข้าหลวงเพื่อพัฒนาสนามหลวงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
            ที่สำคัญ ควรใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่ไปชุมนุมในที่อื่น เช่น ในทำเนียบรัฐบาล  บริเวณถนนราชดำริ หรือบนท้องถนนเช่นพระรูปทรงม้า หรือถนนราชดำเนิน เป็นต้น  หากสนามหลวงได้รับการใช้เพื่อการนี้ ก็จะเป็นการจัดระเบียบการชุมนุมที่ดีในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่กีดขวางการจราจร ไม่บุกรุกสถานที่ราชการ สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ
            นอกจากนั้นในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ดร.โสภณ พรโชคขัย ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยข้อเสนอหนึ่งที่ ดร.โสภณ เสนอก็คือการจัดทำรายการหรือช่องโทรทัศน์เพื่อความสมานฉันท์ โดยใช้ทรัพยากรโทรทัศน์และวิทยุที่มีอยู่แล้ว
            โดยทุกวันนี้เราดูข่าวหรือรายการการเมืองในสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง จะเห็นความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวหรือรายการ ประชาชนต้องถูกยัดเยียดให้ดูรายการที่มีลักษณะมอมเมา และขาดความรอบด้าน สถานีแต่ละสีเสื้อก็มักพบแต่การพูดกันอยู่ข้างเดียวเป็นหลัก อาจจะพูดอยู่คนเดียว หรือมาช่วยกันพูดเป็นหมู่คณะ แต่ก็เป็นการพูดอยู่ข้างเดียวอยู่ดี ไม่มีการนำเสนอความเห็นที่แตกต่างเลย
            ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้มีโทรทัศน์ช่องใหม่ หรือรายการโทรทัศน์ใหม่ ที่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างแท้จริง กล่าวคือใน 24 ชั่วโมง จะมีการถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ 6-8 ประเด็น ๆ ละ 3-4 ชั่วโมงไปเลย เอาให้หายอยากไปเลย หรือถ้าจัดไม่ได้ตลอดวัน ก็อย่างน้อยวันละ 1-2 ประเด็น โดยจัดทุกวัน จัดช่วง Prime Time ไปเลย ประเด็นที่ถกเถียงกันก็คือประเด็นร่วมสมัย หรือประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตาม “สภากาแฟ” ต่าง ๆ เช่น ต่อระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย ต่อนักการเมือง ต่อการโกงกิน เป็นต้น หรือแม้แต่ต่อเหตุการณ์ร่วมสมัยต่างๆ เป็นต้น
            หัวใจสำคัญของการจัดทำรายการหรือโทรทัศน์ช่องใหม่นี้ก็คือ การเชิญบุคคลที่เห็นต่างกันสองขั้วมาคุยกัน ไม่จำเป็นต้องประจันหน้ากัน เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการมีเรื่องวิวาทหรือถึงขั้นชกต่อยกันได้ อาจถ่ายทอดสัญญาณสดจากสถานที่ 3 แห่ง คือจากสถานีและจากคู่ถกเถียงทั้งสองฝ่าย  ลักษณะของรายการก็คือให้โฆษกป้อนคำถาม และให้แต่ละฝ่ายพูดกันคนละไม่เกิน 10 นาที เท่าเทียมกัน ไม่มีการแย่งกันพูด แล้วให้โฆษกสรุปพร้อมป้อนคำถามเพิ่มเติมอีก 2 นาที ดำเนินรายการโดยใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อประเด็น
            ที่ผ่านมา อาจมีบางท่านบอกว่ามีเคยมีรายการเช่นนี้แล้ว แต่เชื่อว่ายังดำเนินการไม่เป็นกลางจริง บ้างก็อาจแก้ว่า ที่ผ่านมาทั้งโทรทัศน์สีเสื้อ ต่างก็บอกว่ายินดีและได้เชิญฝ่ายตรงข้ามแล้ว แต่ไม่มีใครมาออกอากาศ  กรณีนี้ ดร.โสภณ เสนอว่านั่นคงเป็นเพียงการเชิญในรูปแบบ-พิธีการเท่านั้น และคงไม่มีใครมาหากมาแล้วถูกรุม เป็นต้น
            สำหรับคู่ถกเถียงหรือมองต่างมุมนี้อาจเป็นบุคคล หรือเป็นกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่มีการ “เปรียบมวย” กันให้ชัดเจน คู่ที่ควรเชิญให้ถกเถียงกัน ได้แก่:
            รัฐมนตรี: นายกษิต ภิรมย์ กับ นายนพดล ปัทมะ
            นักการเมือง: นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง
            นักบวช: พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) กับ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ)
            นักกิจกรรม: นายสุริยใส กตศิลา กับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง)
            นักวิชาการ: รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กับ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
            ผู้หญิงการเมือง: น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์ กับ น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ
            ไฮโซ: นางปราไพ ปราสาททองโอสภ (PAD Lady) กับ นางดารณี กฤตบุญญาลัย (ไฮโซ เสื้อแดง)
            นักร้อง: นายกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน) กับ นายศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง (เศก ศักดิ์สิทธิ์)
            กวี: นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับ นายวิสา คัญทัพ
            ดร.โสภณ เชื่อว่ารายการหรือช่องโทรทัศน์ที่ดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้ช่องโทรทัศน์ของแต่ละฝ่ายที่ดำเนินการแบบ “ปิดตาข้างเดียว” หรือ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” และมีลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม มอมเมา จะฝ่อลงไปในทันที เพราะประชาชนจะเลือกชมรายการ “ประเทืองปัญญา” ที่มองรอบด้านมากกว่าจะมองข้างเดียว รายการเช่นนี้จะมีอัตราการเข้าชมสูงขึ้นกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคนี้จะเข้ามาร่วมชมอย่างล้นหลาม
            ดร.โสภณ เชื่อว่าถ้าจัดรายการอย่างเป็นกลางได้เช่นนี้จริง ประกบคู่ได้เหมาะสม มีประเด็นถกเถียงที่ดีจริง จะมีคนฟังล้นหลาม สามารถหาโฆษณาให้รายการหรือช่องสถานีโทรทัศน์อยู่รอดได้แน่นอน การดำเนินรายการก็ไม่จำเป็นต้องตัดเข้าโฆษณา แต่อาจเป็นตัววิ่ง หรือป้ายโฆษณาสินค้าดูด้านใต้หรือด้านข้างตลอดเวลาก็ยังได้
            รายการหรือช่องโทรทัศน์อย่างนี้อาจตั้งชื่อว่า “ประชาชนตัดสิน” หรือ “ผู้ชมตรองเอาเอง” “ชาวบ้านรู้แจ้ง” “ไม่มืดบอด” “ตาสว่าง” ฯลฯ หากผู้ที่ได้รับเชิญมาออกรายการตอบไม่ดี ไม่ชัดเจน ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปก็จะเห็นเอง ใครพูดจาเกะกะระรานหรือ “ดำน้ำ” “เล่นลิ้น” ก็จะแพ้ภัยตัวเองไปในที่สุด ดังนั้นผมเชื่อว่าผู้ที่ได้รับเชิญจะรู้สึกเป็นเกียรติมาก และจะมีผู้ยินดีให้รับเชิญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
            รายการนี้จะช่วยสร้างชาติอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดภาวะ “สังคมอุดมปัญญา” เพราะได้ฟังอย่างรอบด้านและส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินจากข้อมูล ข่าวสาร เหตุผล ไม่ใช่จากความเชื่อหรือการบอกต่อ ๆ กันไปแบบข่าวลือ เป็นต้น รายการนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นการให้การศึกษาประชาชนที่เป็นกลางและเป็นธรรม

ติดต่อ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้ที่ คุณอัจฉรา 08.6628.2817 อีเมล์: sopon@trebs.ac.th  thaiappraisal@gmail.com  เว็บไซต์หาเสียงที่ www.sopon4.housingyellow.com Facebook: www.facebook.com/dr.sopon4  Twitter: www.twitter.com/Pornchokchai